TH | EN

ทำตามได้เลย การจดทะเบียนร้านอาหาร บุคคลธรรมดา และ บริษัท

หลายคนสงสัยว่า การจดทะเบียนร้านอาหาร แบบบุคคลธรรมดา และ บริษัท ต่างกันอย่างไร และ เราควรจดทะเบียนแบบไหน มีขั้นตอนอย่างไร บทความนี้เราจะแนะนำ ขั้นตอนอย่างละเอียด ให้คุณทำตามได้เลย

จากผลการศึกษาวิจัย ของสถาบันหรือหน่วยงานต่างๆ มักระบุตรงกันว่า ร้านอาหารยังเป็นธุรกิจดาวรุ่งมาตลอด ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นหรือขาลงก็ตาม ส่วนหนึ่งเพราะอาหารเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตประจำวัน อีกอย่างสังคมเมืองปัจจุบันผู้คนต้องรีบเร่งออกไปทำงานนอกบ้านตั้งแต่เช้ายันค่ำไม่มีเวลาทำอาหารเอง และอยู่กันในลักษณะครอบครัวเดี่ยว จึงมีความจำเป็นต้องพึ่งพาร้านอาหารใหญ่น้อยทั้งหลาย รวมถึงบรรดาอาหารกึ่งสำเร็จรูปและอาหารแช่แข็งต่างๆ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงทั้งในบ้านเราและในต่างประเทศ

ในแต่ละปีตลาดร้านอาหารทั้งเล็ก-ใหญ่ในบ้านเรา มีมูลค่ารวมเกือบ 4 แสนล้านบาท และเติบโตขึ้นทุกๆ ปี ในสัดส่วนร้อยละ 4.0-6.8 ปัจจัยเหล่านี้เอง จึงทำให้ธุรกิจร้านอาหารได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า บริษัทใหญ่ๆ อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็เข้ามาทำธุรกิจร้านอาหาร รวมทั้งค่ายเบียร์สิงห์ก็เช่นกัน และบริษัทเซ็นทรัลเรสตอรองส์กรุ๊ป จำกัด ก็มีนโยบายขยายสาขาร้านอาหาร ในทุกประเภทที่ มีโอกาสเติบโตได้ดี เช่น ร้านอาหารญี่ปุ่น โดยบริษัทดังกล่าวมีอาหารญี่ปุ่นในเครือถึง 7 แบรนด์ด้วยกัน อย่างไรก็ตามธุรกิจร้านอาหารมีหลากหลายรูปแบบ

ยามนี้บ้านเรานิยมทานอาหารญี่ปุ่น และ เกาหลี มีทั้งพวกที่เป็นแฟรนไชส์และไม่ใช่ หรือพวกร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด ที่มักอยู่ตามห้างสรรพสินค้า รวมถึงร้านอาหารที่ชูเมนูส้มตำ ไก่ย่างเป็นหัวหอก โดยยังคงครองใจคนในเมือง และ ต่างจังหวัดตลอดมา นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารฟิวชั่น และร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเน้นพืชผักผลไม้ออแกนิก อันถือเป็นจุดขาย ที่สามารถดึงดูดลูกค้าได้เป็นอย่างดี

 

แบบการจดทะเบียนผู้ประกอบการร้านอาหาร
เจ้าของผู้ประกอบการร้านอาหาร สามารถเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล หากทำในนามบุคคลธรรมดา กฎหมายกำหนดไว้ให้ผู้ประกอบการต้องยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์ต่อหน่วยงานรัฐที่ดูแล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหารที่เจ้าของผู้ประกอบการ จะลงทุนด้วยตัวเองเพียงลำพังคนเดียว และยอมรับความเสี่ยงต่อผลขาดทุนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งหมด โดยไม่จำกัดความรับผิด แต่ถ้าหากเห็นว่าธุรกิจร้านอาหารที่จะทำนั้น ต้องใช้เงินลงทุนสูง ถ้าทำเพียงลำพังคนเดียวก็คงไม่มีเงินเพียงพอที่จะลงทุน และต้องการหาคนมาร่วมทุนด้วย ก็อาจจะจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทขึ้นมา เพื่อดำเนินกิจการร้านอาหารในนามบริษัท โดยมีบุคคลอื่นถือหุ้นในบริษัทร่วมอยู่ด้วย

บริษัทเมื่อจัดตั้งแล้วเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบุคคลธรรมดา และส่วนใหญ่ผู้ที่ถือหุ้นใหญ่สุดของบริษัท ก็มักจะเป็นผู้บริหารกิจการ หรือ บริหารร่วมกันกับผู้ถือหุ้นอื่นก็ได้ การจดทะเบียนตั้งบริษัทเพื่อมาบริหารร้านอาหารจะมีข้อดี ตรงที่ผู้ลงทุนจะจำกัดความรับผิดเพียงเท่าจำนวนเงินที่ตนลงหุ้นด้วยเท่านั้น การทำธุรกิจร้านอาหารในรูปบริษัทสามารถ ดำเนินการได้โดยไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อย่างบุคคลธรรมดาอีก

นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ถ้ามีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ก็ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนผู้เสียภาษีไว้ จะเสียแบบบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็แล้วแต่กรณี อีกทั้งธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจจำหน่ายสินค้าและบริการ กฎหมายภาษีอากรกำหนดให้ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยอีกต่างหาก กระบวนต่างๆ เหล่านี้แม้จะดูเหมือนว่ายุ่งยากไปหน่อย แต่ก็ไม่ยุ่งยากอะไรสำหรับผู้รู้ เช่น สำนักงานกฎหมายและบัญชี ที่เค้าพร้อมจะรับไปดำเนินการในส่วนนี้ให้โดยมีค่าบริการ ซึ่งก็เอาค่าบริการส่วนนี้รวมเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการร้านอาหารได้ ฉะนั้นร้านอาหารควรจะต้องคิดในส่วนค่าใช้จ่ายส่วนของ สำนักงานกฎหมายและบัญชี เอาไว้ด้วย ตั้งแต่เริ่มต้น

 

ตัวอย่าง เอกสารต่างๆ ที่ใช้ในการจดทะเบียน

การจดทะเบียนร้านอาหาร มีสองแบบ การจดทะเบียนพาณิชย์ และ การจดทะเบียนบริษัท

1. การจดทะเบียนพาณิชย์
ธุรกิจร้านอาหารนั้น ถ้าผู้ประกอบการประสงค์จะดำเนินธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา พระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 กำหนดไว้ ให้ผู้ประกอบการร้านอาหารที่เป็นบุคคลธรรมดาต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เริ่มประกอบการร้านอาหาร ร้านอาหารในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่ สำนักงานเขตที่ร้านอาหารตั้งอยู่ ส่วนในต่างจังหวัดให้ยื่นคำขอได้ที่ เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่ร้านอาหารตั้งอยู่ในท้องที่ มีค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนพาณิชย์ฉบับละ 50 บาท ซึ่งเมื่อดำเนินการจะทะเบียนพาณิชย์แล้ว ผู้ประกอบการร้านอาหารก็ต้องแสดงใบทะเบียนพาณิชย์ ไว้ ที่สำนักงานใน ที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย และต้องจัดให้มีป้ายชื่อร้านที่ใช้ในการประกอบพาณิชย์ไว้หน้าร้านและร้านสาขา (ถ้ามี) โดยเปิดเผย 1 (ดูตัวอย่างคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ได้จากเอกสารท้ายบทความ) การเสียภาษีของผู้ประกอบการร้านอาหารที่จดทะเบียนพาณิชย์ไว้ จะเสียภาษีในนามบุคคลธรรมดา เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาผู้มีเงินได้ทั่วไป

2. การจดทะเบียนบริษัท
ธุรกิจร้านอาหารในปัจจุบัน มีพัฒนาการไปไกลกว่าในอดีตมาก อีกทั้งมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในธุรกิจเพิ่มขึ้นทุกปี มีทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีการแข่งขันกันสูง ทำให้ผู้ประกอบการต่างหากลยุทธ์ออกมาแข่งขันกันอย่างมาก ทั้งเมนูอาหาร ทั้งรูปแบบร้านและทำเลสถานที่ ทั้งการบริการจัดการ และรวมถึงการสร้างช่องทางการจำหน่าย ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ บริการส่งตรงถึงหน้าบ้าน และหลายร้านอาหารยังเปิดกิจการสาขาอีกหลายสาขา หรือเปิดจำหน่ายแบรนด์ร้านอาหารพร้อมสูตรการทำร้านอาหารแบบ “แฟรนไชส์” อีกด้วย เพื่อเป็นการช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด การบริหารจัดการร้านอาหาร มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น การจะดำเนินกิจการเพียงลำพังด้วยเงินทุนส่วนตัวอาจจะไม่สามารถแบกรับได้ไหว จึงจำเป็นต้องจัดตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการ ซึ่งการบริหารจัดการในแบบบริษัทจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้น อย่างน้อยก็มีคนอื่นเข้าร่วมลงทุน ช่วยสนับสนุนเงินทุนในการต่อยอดธุรกิจ มีคนเข้ามาช่วยคิดช่วยทำสร้างระบบการบริหารจัดการ มีการใช้งานโปรแกรม หรือ แอพพลิเคชั่น ระบบร้านอาหาร และ ยังช่วยในด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี และที่สำคัญคือลดความเสี่ยงของผู้ลงทุน เพราะจำกัดไว้เท่าที่เงินที่ตัวเองลงทุนในหุ้นเท่านั้น แตกต่างจากการทำโดยบุคคลธรรมดา ที่ต้องรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวน

การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท จะมีข้อยุ่งยากกว่าการจดทะเบียนพาณิชย์ของบุคคลธรรมดาค่อนข้างมาก เพราะการจดทะเบียนบริษัท ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่ง และ พาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัท ซึ่งจะต้องมีผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัท จัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ กำหนดทุนที่จะจดทะเบียน และหาผู้ร่วมทุนเข้ามาซื้อหุ้นบริษัท กำหนดมูลค่าหุ้นว่าจะกำหนดกันอย่างไร เช่น ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท แบ่งหุ้นออกเป็น 10,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท ส่วนผู้ถือหุ้นคนใดจะถือหุ้นจำนวนเท่าไหร่ ก็สุดแท้แต่จะจัดสรรกันไป แล้วผู้ถือหุ้นทั้งหมดก็จะมาทำการเลือกกรรมการขึ้นมาหนึ่งคน หรือ หลายคนก็ได้ ให้เข้ามาบริหารจัดการร้านอาหาร โดยส่วนใหญ่แล้ว คนที่ถือหุ้นมากสุดจะได้รับการเลือกให้ทำหน้าที่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจในการบริการกิจการร้านอาหาร แต่ก็แล้วแต่ความเห็นของผู้ถือหุ้นด้วย กรรมการ อาจจะจัดตั้งมาจากผู้ถือหุ้นส่วนน้อยก็ได้ ซึ่ง ทั้งหมดจะต้องจดแจ้งไว้ในรายการที่จดทะเบียน ซึ่งการจดทะเบียนสามารถยื่นขอจดได้ ที่กรุงเทพมหานคร ยื่นขอจดทะเบียนได้ที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานทะเบียนพาณิชย์เขต ส่วนในต่างจังหวัดสามารถยื่นขอจดได้ที่ สำนักงานทะเบียนพาณิชย์จังหวัด ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัท ขึ้นอยู่ที่จำนวนทุนจดทะเบียน ซึ่งมีอัตรา 1 แสนละ 50 บาท ขั้นต่ำ 5,000 บาท และสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท 1 ดูตัวอย่างแบบฟอร์มขอจดทะเบียนบริษัทท้ายบทความ

เมื่อได้ทำการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้ว บริษัทถือเป็นนิติบุคคลต่างหาก แยกออกจากบุคคลธรรมดา กิจการของบริษัทจะดำเนินการโดยผ่านกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ภายใต้วัตถุประสงค์ของบริษัทที่กำหนดไว้ในรายการจดทะเบียน บริษัทต้องมีการแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีที่มีใบอนุญาตให้เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีอย่างน้อยหนึ่งคน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีบริษัท กรรมการบริษัทมีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชี จัดทำงบดุลและงบกำไรขาดทุน ในทุกๆ 6 เดือน ของรอบระยะเวลาบัญชี โดยมีผู้ตรวจสอบบัญชีให้การรับรองความถูกต้อง และนำส่งงบดุลให้แก่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท เงินกำไรที่ได้จากการดำเนินธุรกิจหลังหักภาษีแล้ว ก็ให้ปันผลกำไรเหล่านั้นให้แก่ผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนของหุ้นที่ถือ หรือจะกันเอาไว้ ไปลงทุนต่อยอดธุรกิจโดยไม่ปันผลก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมการ และที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วย และเงินกำไรที่ได้จากการทำธุรกิจ จะต้องถูกนำไปคำนวณเพื่อการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล หากขาดทุนหรือกำไรไม่เกิน 3 แสนบาทของรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปี ก็ไม่ต้องเสียภาษี ถ้าเกิน 3 แสนบาทแต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เสียภาษี 15 เปอร์เซ็นต์ หากกำไรเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป ก็เสียภาษี 20 เปอร์เซ็นต์ของเงินกำไร

การขึ้นทะเบียนประกันสังคม
ไม่ว่าจะทำร้านอาหารในนามบุคคลธรรมดา หรือ ในนามบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลก็ตาม หากร้านอาหารมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน ขึ้นไป ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดให้เจ้าของผู้ประกอบการ ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม และหักเงินเดือนลูกจ้างนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อเป็นสวัสดิการรักษาพยาบาล และอื่นๆ ของลูกจ้าง อัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมคือ 5% ของเงินเดือน แต่จะคิดที่อัตราเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทเท่านั้น ดังนั้นการหักเงินเดือนลูกจ้างสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมจะไม่เกิน 5% ของเงินเดือน 15,000 บาท เท่ากับสูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน ลูกจ้างสมทบส่วนหนึ่ง นายจ้างสมทบอีกส่วนหนึ่ง รวมกันแล้วเท่ากับ 1,500 บาทต่อเดือนต่อลูกจ้าง 1คน ที่ต้องนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม

อื่นๆ ที่ควรรู้
นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการร้านอาหาร ประสงค์จะขายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือพวกยาสูบด้วย การจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีมีแอลกอฮอล์ และ ยาสูบ ก็ต้องยื่นขออนุญาตจำหน่ายสุรา เป็นกรณีต่างหากอีกกรณีหนึ่ง โดยขออนุญาตจำหน่าย ได้ที่สำนักงานสรรพสามิตเขต ท้องที่ที่ร้านอาหารตั้งอยู่ และ เช่น เปิดร้านเหล้า ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีการแสดงดนตรีด้วย จำหน่ายอาหารด้วย จะเข้าข่ายเป็นสถานบันเทิงนะครับ ก็ต้องขออนุญาตประกอบกิจการเป็นธุรกิจสถานบันเทิง ตาม พรบ. สถานบริการ พ.ศ. 2509 อีกต่างหาก

ข้อดีและข้อเสียของการทำร้านอาหารในนามบุคคลธรรมดา กับ ทำในนามบริษัท

ข้อดี

ข้อเสีย

ทำในนาม

บุคคลธรรมดา

  • จัดตั้งง่าย โดยคนๆ เดียว

  • มีอิสระในการตัดสินใจ

  • เจ้าของเป็นผู้รับผิดชอบคนเดียว

  • ข้อบังคับทางกฎหมายน้อย

  • การเลิกกิจการทำได้ง่าย

  • ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารต่ำ

  • เจ้าของต้องรับหนี้สินไม่จำกัดจำนวน

  • ขาดความน่าเชื่อถือของกิจการ

  • การจัดหาเงินทุนทำได้ยาก

  • การตัดสินใจอยู่ที่คนๆ เดียว ไม่รอบคอบ

  • ธุรกิจอาจไม่ยืนยาว และไม่ต่อเนื่อง

  • เสียเปรียบด้านภาษีอากร

  • พนักงานมีข้อจำกัดด้านความก้าวหน้า

ทำในนาม

บริษัท

  • เป็นนิติบุคคล แยกตัวจากผู้ถือหุ้น

  • ผู้ถือหุ้นรับผิดเท่าที่ลงทุนในหุ้น

  • ซื้อ ขายหรือโอนหุ้นให้แก่บุคคลอื่นได้

  • ผู้ถือหุ้น ตายหรือขายหุ้น บริษัทก็ยังดำเนินการต่อไปได้ไม่ติดขัด

  • มีความน่าเชื่อถือ กู้ยืมเงินต่อยอดธุรกิจได้ไม่จำกัด ถ้าผลประกอบการดี

  • เสียภาษีน้อยกว่าบุคคลธรรมดา

  • ขั้นตอนการจัดตั้งยุ่งยาก

  • ค่าใช้จ่ายการบริหารสูง

  • ต้องมีผู้ร่วมลงทุนอย่างน้อย 3 คนขึ้นไป

  • ความลับบริษัทเปิดเผยได้ง่าย เนื่องจากมีผู้รู้เป็นหุ้นส่วนหลายคน

  • อาจต้องจ้างบุคคลภายนอกเข้ามาช่วยบริหาร ขาดความซื่อสัตย์ ความตั้งใจ

  • เลิกกิจการทำได้ค่อนข้างยาก

สรุป
การทำร้านอาหาร ไม่ว่าจะทำโดยบุคคลธรรมดาโดยการจดทะเบียนพาณิชย์ หรือ ทำในรูปแบบบริษัท โดยการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ล้วนแล้วแต่ทำเพื่อมุ่งหวังกำไร ความสำคัญจึงขึ้นอยู่ที่จะทำอย่างไรให้ธุรกิจมีกำไร กลยุทธการทำร้านอาหารจึงต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ อีกหลายด้าน ตั้งแต่เมนูอาหาร คอนเซ็ปร้านอาหาร ทำเลที่ตั้ง การบริการ สร้างแบรนด์ สร้างกิจกรรมส่งเสริมการขาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ สร้างค่านิยม ผ่านการบอกกล่าวจากปากต่อปากของลูกค้า จะทำให้ธุรกิจร้านอาหารเป็นที่รู้จักและนิยมชมชอบจากลูกค้า มุ่งที่จะมาใช้บริการ สร้างผลประกอบการให้มีกำไรและเติบโตอย่างยั่งยืน

การขออนุญาตประกอบกิจการต่างๆ แม้จะเป็นเรื่องยุ่งยากอยู่บ้าง หากได้ดำเนินการตามขั้นตอนโดยถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด หน่วยงานรัฐที่ดูแลรับผิดชอบต้องให้การอนุญาต จะปฏิเสธไม่ให้อนุญาตไม่ได้ ผู้ประกอบการสามารถเลือกที่จะยื่นขออนุญาตด้วยตัวเองหรือจะว่าจ้างสำนักงานกฎหมายและบัญชี ที่รับบริการยื่นขอจดทะเบียนและขออนุญาต ทำแทนให้ก็ได้

 

บทความนี้ของเรา ค่อนข้างยาว และ อัดแน่นไปด้วยสาระ ก็เพราะว่ามีร้านอาหารหลายร้าน และ ผู้ที่กำลังจะเปิดร้านอาหาร สอบถามกันเข้ามามาก เวลาที่ทีมงานของเราได้มีการพูดคุยกับท่านเจ้าของร้าน เราจึงเห็นว่าเรื่องนี้ จะเป็นประโยชน์ที่คุณจะได้เข้าใจ ขั้นตอน การจดทะเบียนร้านอาหาร ทั้งแบบ แบบบุคคลธรรมดา และแบบ บริษัทจำกัด ซึ่งรายละเอียด และ ขั้นตอนต่างๆ เรามีอธิบายอย่างละเอียด รวมถึงคุณสามารถ ดาวโหลดตัวอย่างไฟล์ แบบฟอร์มต่างๆได้ ที่นี่

สู้ๆครับ 😎

ข้อมูลอ้างอิง

Comments are closed.